โพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน หลังจากที่ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผย โพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “คนไทยกับวัคซีนโควิด-19” โดยทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชน จำนวน 1,570 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 22-29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นจากกรณีที่ไทยจะดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 พบประชาชนส่วนใหญ่ต้องการฉีดวัคซีน แต่ยังคงมีความกังวลอยู่ แม้ว่าจะมีประกาศว่าวัคซีนโควิด-19 นี้จะถึงไทยแน่นอนเดือนกุมภาพันธ์นี้แล้วก็ตาม
ตั้งคำถามต่อการบริหารงานของรัฐ เรื่องนี้ น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยว่า เรื่องวัคซีนโควิด-19 เป็น ประเด็นร้อนที่หลายฝ่าย ตั้งคำถามต่อการบริหารงานของรัฐบาล และเมื่อเปรียบเทียบการดำเนินงานของหลายประเทศในเรื่องการฉีดวัคซีนให้ประชาชนนั้นถือว่ามีความคืบหน้าไปมาก
ประชาชนเกิดความกังวลใจ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ ประชาชนเกิดความกังวลใจ อย่างมาก ทั้งเรื่องยี่ห้อวัคซีน, ประสิทธิภาพ, ผลข้างเคียง, กระบวนการจัดซื้อ, ความล่าช้า, ราคา และความโปร่งใส ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาลอย่างยิ่ง ในการเร่งสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน และโดยการสำรวจเรื่อง “คนไทยกับวัคซีนโควิด-19” มีผลดังนี้
1.ประชาชนมีความกังวลเรื่องใดบ้างในการฉีดวัคซีน พบว่าประชาชนกังวลเรื่องผลข้างเคียงสูงถึง ร้อยละ 82.71% รองลงมากังวลเรื่องประสิทธิภาพ ร้อยละ 71.96% และกังวลเรื่องความเพียงพอของวัคซีนสำหรับประชาชนทุกคน ร้อยละ 54.67% รวมถึงความกังวลเรื่องราคาต่อเข็มของวัคซีนกรณีที่ประชาชนต้องจ่าย ร้อยละ 44.17% และ กังวลเรื่องยี่ห้อวัคซีนที่ไทยสั่งซื้อ ร้อยละ 38.60%
2.ประชาชนต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ พบว่าประชาชนมีความต้องการฉีดวัคซีนแต่รอดูผลข้างเคียงก่อน ร้อยละ 65.99% รองลงมา ต้องการฉีดวัคซีนและพร้อมฉีดเลย ร้อยละ 20.70% และไม่ต้องการฉีดวัคซีน ร้อยละ 13.31%
3.ประชาชนรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อบริษัทผลิตวัคซีนโควิด-19 ใดบ้าง อันดับหนึ่งพบว่าประชาชนรู้จัก บริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเท็ค ร้อยละ 64.27% , บริษัทอ๊อกฟอร์ด-แอสตราเซเนกา ร้อยละ 52.55%, บริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ร้อยละ 51.66%, บริษัทจอห์สัน แอนด์ จอนห์สัน ร้อยละ 35.10% และ บริษัทโมเดอร์นา ร้อยละ 28.28%
4.ประชาชนเชื่อมั่นว่าวัคซีนจะป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่ พบว่าอันดับหนึ่งค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 63.88% รองลงมาไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 19.30% และเชื่อมั่น ร้อยละ 16.82%
5.เมื่อมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทยไปแล้ว การดูแลสุขภาพของประชาชนจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อันดับหนึ่งพบว่า ประชาชนจะดูแลสุขภาพเหมือนเดิม ร้อยละ 60.83% รองลงมา ดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ร้อยละ 35.54% และ ดูแลสุขภาพตัวเองน้อยลง ร้อยละ 3.63%
ประชาชนให้ความสนใจ ทางด้าน ดร.วิทวัส รัตนถาวร อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยถึงการสำรวจในครั้งนี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ และติดตามข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ทั้งในด้านประสิทธิภาพของวัคซีน, ราคา และผลข้างเคียงเมื่อได้รับวัคซีนเข้าไปแล้ว
ภาครัฐต้องเร่งชี้แจง โดยปัจจัยเหล่านี้ยังส่งผลกระทบโดยตรงกับความเชื่อมั่นของประชาชนในเรื่องของความปลอดภัย โดยสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความกังวลใจเกี่ยวกับผลค้างเคียงของวัคซีนมากถึง ร้อยละ 82.71 ซึ่งเป็นหน้าที่ของทาง ภาครัฐที่ต้องเร่งชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ วัคซีนโควิด-19 ที่มีความแตกต่างกันของแต่ละบริษัท
เครดิตภาพ : www.suandusitpoll.dusit.ac.th